หลายคนน่าจะเคยประสบกับปัญหากวนใจจากการนอนละเมอ ซึ่งผู้ที่มีอาการนอนละเมอจะเริ่มมีอาการละเมอหลังจากนอนหลับไปแล้ว 1-3 ชั่วโมง ลักษณะจะเป็นตั้งแต่ นอนละเมอพูด ไปจนถึงการนอนละเมอเดินไปไหนมาไหน ถึงแม้จะไม่ใช้โรคร้ายแรง แต่ก็อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ แลับทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลว่าอาการนอนละเมออันตรายไหม? สาเหตุเกิดจากอะไรและวิธีการป้องกันรักษา
นอนละเมอเกิดจากอะไร?
ปกติอาการนอนละเมอจะเกิขึ้นในเด็กอายุ 4-8 ปี แต่ก็สามารถเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ได้เช่นเดียวกัน ถึงแม้สาเหตุของการนอนละเมอยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าเกิดจากอะไร แต่สันนิษฐานได้ว่าอาจจะเกิดขึ้นได้จากปัจจัยแวดล้อม เช่น ความเครียดสะสม การพักผ่อนไม่เพียงพออย่างต่อเนื่อง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยารักษาโรคบางชนิด การถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือภาวะการถูกรบกวนขณะนอนหลับ เช่น
- ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
- อาการขาอยู่ไม่สุขขณะนอนหลับจนรบกวนการนอน
- ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน
- โรคกรดไหลย้อน
- อาการไมเกรน
ลักษณะของอาการนอนละเมอ
- นอนละเมอพูดพึมพำขณะหลับ
- ละเมอฝันผวาขยับร่างกายไปมา
- ส่งเสียงร้องขณะที่ตายังหลับ
- อยู่ในภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่นแต่ขยับร่างกายไม่ได้ คล้ายถูกผีอำ
- ละเมอลุกขึ้นมานั่งลืมตา
- ละเมอลุกขึ้นมาแล้วเดินไปมาในบ้าน
- ลุกมาทำกิจกรรมที่เคยทำปกติ เช่น ย้ายสิ่งของ เข้าห้องน้ำ
- ละเมอแบบไม่มีการตอบสนอง
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทความ : นอนน้อย นอนไม่เพียงพอ อันตรายก่อโรคร้ายกว่าที่คิด!
นอนละเมออันตรายไหม ?
ปกติแล้วอาการนอนละเมอมักเกิดขึ้นในช่วงวัยเด็ก และจะค่อยๆ หายไปเองเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ แต่ก็เกิดได้ในวัยผู้ใหญ่เช่นกันและมักจะมาพร้อมกับภาวะผิดปกติเกี่ยวกับการนอนอื่นๆ ร่วมด้วย โดยปกติแล้วส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องรักษาหากเป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราว แต่หากเกิดขึ้นซ้ำๆ และผู้ที่นอนละเมอได้รับบาดเจ็บ หรือสร้างความเดือดร้อนให้คนรอบข้าง ควรจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุโดยละเอียดและรับยาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
วิธีป้องกันการเกิดการนอนละเมอ
- การนอนเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น ควรนอนและตื่นให้เป็นเวลา และพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชม.
- สร้างสภาวะแวดล้อมที่ดีในการนอน ด้วยการปิดไฟให้สนิท เลี่ยงเสียงรบกวน เลือกที่นอนที่ช่วยลดปัญหาการนอน เช่น ที่นอนที่ช่วยลดแรงสั่นสะเทือนตอนพลิกตัวระหว่างนอน
- สร้างสภาวะผ่อนคลายก่อนนอน เช่น ฝึกหายใจเข้าออก อ่านหนังสือ ทำสมาธิ
- งดดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน
การป้องกันอันตรายสำหรับผู้ที่นอนละเมอ
- จัดสภาพแวดล้อมโดยรอบให้ปลอดภัยสำหรับผู้นอนละเมอ
- เก็บของที่อาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะของมีคมต่างๆ ให้ห่างจากผู้มีอาการนอนละเมอ
- ตรวจสอบและล็อกประตูและหน้าต่างให้เรียบร้อยก่อนนอน
- หลีกเลี่ยงการนอนบนเตียงที่เป็นเตียง 2 ชั้น เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
การรักษาอาการนอนละเมอทางการแพทย์
โดยปกติแล้วการรักษาอาการนอนละเมอทางการแพทย์ มักจะเป็นการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องซึ่งรบกวนการนอนหลับ และเป็นสาเหตุทำให้นอนละเมอ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ กรดไหลย้อน หรือยาบางชนิดอาจส่งผลทำให้นอนละเมอ หากการนอนละเมอรุนแรงถึงขั้นรบกวนการใช้ชีวิต ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาให้ตรงจุด
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ทาง Facebook Fanpage : Lunio